“นิทานธรรมะกลับตาลปัตร”

โดย พระอาจารย์ ประสงค์ ปริปุณฺโณ

พระอาจารย์ ประสงค์ ปริปุณฺโณ อธิบายความหมายของโครงการ “นิทานธรรมะกลับตาลปัตร” เป็น 2 นัยยะ คือ

  • นัยยะที่หนึ่ง (Direct) ตีความตรงตามตัวอักษร หมายถึง การนำตาลปัตรมากลับด้าน วาดรูป เล่านิทานชาดกและนิทานธรรมะต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจในการฟังธรรม และนำตาลปัตรเก่าที่ไม่ใช้แล้วมาเปลี่ยนให้เป็นสื่อธรรมะอันทรงคุณค่า
  •  นัยยะที่สอง (Indirect) หมายถึง เราสามารถเรียนรู้ธรรมะอย่างสนุกสนาน และนำข้อคิดไปประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน ธรรมะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ การสอนธรรมะสามารถทำได้หลายรูปแบบ ดังเช่นที่พระอาจารย์นำมาสอนลูกศิษย์ เช่น ตัวต่อสอนธรรม พัดหลง-รู้ พวงกุญแจอ๋อ-เอ๋อ เป็นต้น

 

ปัจจุบันมีทีมศิลปินจิตอาสาจากหลากหลายวิชาชีพ มารวมตัวกันในชื่อ “กลุ่มนิทานธรรมะกลับตาลปัตร” ร่วมวาดภาพนิทานธรรมะฝากไว้ในพุทธศาสนาจำนวนมาก

 

ความเป็นมาของโครงการนิทานธรรมะกลับตาลปัตร

คำว่า “ตาลปัตร” เป็นคำภาษาไทยที่นำมาจากภาษาบาลีว่า “ตาล + ปตฺต” แปลว่า ใบตาล ซึ่งตาลปัตรนี้ เป็นสิ่งที่คนทั่วไปใช้บังแดดและใช้พัดลมมาตั้งแต่โบราณ ตาลปัตร แม้จะมิได้นับเนื่องให้เป็นสิ่งหนึ่งในบริขาร 8 ของพระสงฆ์และก็ไม่เคยพบหลักฐานว่ามีพุทธบัญญัติ ให้พระสงฆ์ใช้ของสิ่งนี้ในโอกาสใดเพียงแต่พบข้อความปรากฏในคัมภีร์ทางศาสนาหลายแห่ง เช่นหนังสือธรรมบท ว่า “ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนา มีพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ถวายงานพัดอยู่ด้านหลัง”

พระอาจารย์ประสงค์ ปริปุณฺโณ เล่าว่า ขณะที่ท่านศึกษาธรรมะกับท่านพุทธทาสเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ภาพที่ท่านพุทธทาสถือตาลปัตร ปรากฎข้อความว่า “การทำงานคือการประพฤติธรรม” ได้จุดประกายความคิดให้พระอาจารย์ประสงค์ ดำรินำตาลปัตรที่เหลือมากมายหลังจากพระสึก ซึ่งบางวัดมีมากจนต้องนำไปเผาทิ้ง มาใช้ประโยชน์ในการเผยแผ่พระธรรม

ธรรมะ กลับตาลปัตร   ขัดเกลาจิต
ให้ข้อคิด คติธรรม นำใจสูง
โดยเล่าขาน นิทานธรรม เพื่อชักจูง
ด้วยหมายมุ่ง มอบธรรมะ สะกิดใจ

ถูกหรือผิด ชั่วหรือดี มีเป็นคู่
หลงหรือรู้ รักหรือชัง ยังสงสัย
บาปหรือบุญ คุณหรือโทษ จะโกรธใคร
“ตาลปัตรใจ” มีสองด้าน อ่านให้เป็น